วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจยะลา

 

   

   
 *** วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจยะลา ***

   

การประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)
                                 พ.ศ. 2551 คุ้มครองคน ไม่คุ้มครองรถ

พรบ. คืออะไร
พรบ. หมายถึง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปี พ.ศ. 2535
ทำไมกฎหมายต้องบังคับให้ทำประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.
การที่รัฐออกกฎหมายกำหนดให้รถทุกคันต้องจัดให้มีประกันภัย อย่างน้อยที่สุด คือ การทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์
1. เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับบาดเจ็บ/เสียชีวิต เพราะเหตุประสบภัยจากรถ โดยให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีกรณีบาดเจ็บ หรือช่วยเป็นค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต
2. เป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาล/สถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาล ในการรับรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ

3. เป็นสวัสดิสงเคราะห์ที่รัฐมอบให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เพราะเหตุประสบภัยจากรถ
4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้การประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือนร้อน แก่ผู้ประสบภัยและครอบครัว

รถประเภทใดที่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ.
รถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ได้แก่รถทุกชนิดทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร ที่เจ้าของมีไว้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ ไม่ว่ารถ
ดังกล่าวจะเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก หัวรถลากจูง รถพ่วง รถบดถนน รถอีแต๋น ฯลฯ
ดังนั้น การที่มีรถบางประเภท กรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียน แต่หากเข้าข่ายว่ารถนั้นเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นแล้วก็จัดเป็นรถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.

รถประเภทใดที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ.
พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กำหนดประเภทรถที่ไม่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ไว้ดังนี้
1. รถสำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ พระรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2. รถของสำนักพระราชวังที่จดทะเบียน และมีเครื่องหมายตามระเบียบที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด
3. รถของกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการต่าง ๆ รถยนต์ทหาร
4. รถของหน่วยงานธุรการขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานธุรการ ที่เป็นอิสระขององค์กรใด ๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

ใครมีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถ/โทษการไม่ทำประกันภัย
ผู้มีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถ ได้แก่ เจ้าของรถผู้ครอบครองรถในฐานะผู้เช่าซื้อรถ และผู้นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศ
การฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการทำประกันภัยรถ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดให้ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ผู้ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.
ผู้ประสบภัย อันได้แก่ ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสารคนเดินเท้า หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากรถ ก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้
ทายาทของผู้ประสบภัยข้างต้น กรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต
ผู้มีหน้าที่รับประกันภัย/โทษของการไม่รับประกันภัย
ผู้มีหน้าที่ต้องรับประกันภัย คือ บริษัทประกันวินาศภัยที่รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยรถ ประชาชนสามารถทำประกันภัยรถ พ.ร.บ. ได้ที่บริษัทประกันภัยข้างต้นรวมถึงสาขาของบริษัทนั้น ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมี บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่รับประกันภัยเฉพาะรถจักรยานยนต์ มีสาขาให้บริการทั่วประเทศ
บริษัทใดฝ่าฝืนไม่รับประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. คุ้มครอง ฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 25,000 บาท

ความคุ้มครองเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.
ผู้ประสบภัย จะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอ ค่าเสียหาย ดังกล่าว เรียกว่า “ค่าเสียหายเบื้องต้น” โดยมีจำนวนเงิน ดังนี้

กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา)
กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) รวมแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท

ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น
เป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย/ทายาทผู้ประสบภัย เมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย/ทายาทได้รับแล้ว เป็นดังนี้

กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามความเป็นจริงไม่เกิน 50,000 บาท
กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่

รถ 2 คัน ชนกัน ผู้ประสบภัยเป็นผู้โดยสาร พ.ร.บ. คุ้มครองเท่าใด
กรณีรถตั้งแต่ 2 คัน ขึ้นไป ชนกัน ต่างฝ่ายต่างมีประกันตาม พ.ร.บ. และไม่มีผู้ใดยอมรับผิดในเหตุที่เกิด ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองตามหลักการสำรองจ่าย

กรณีบาดเจ็บ บริษัทจะสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จ จำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาท ต่อคน แก่ผู้ประสบภัย
กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะสำรองจ่ายทดแทน/ค่าปลงศพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) ต่อคน แก่ทายาทผู้ประสบภัย

ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี
กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้ขับขี่และเป็นฝ่ายผิดเอง หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย ดังนี้ ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้น กล่าวคือ หากบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000 บาท หรือเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท หรือเสียชีวิตภายหลังรักษาพยาบาลจะรับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้โดยสาร/บุคคลภายนอกรถ จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท กรณีบาดเจ็บ และ 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร (ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถที่บริษัทรับประกันภัยไว้ต้องเป็นฝ่ายรับผิดตามกฎหมาย)

ข้อพึงปฏิบัติเมื่อประสบภัยจากรถ
เมื่ออุบัติเหตุรถยนต์เกิดขึ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ หรือผู้พบเห็น ควรปฏิบัติ ดังนี้
กรณีมีผู้บาดเจ็บ
1. นำคนเจ็บเข้ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและสะดวกที่สุดก่อน
2. แจ้งเหตุที่เกิดให้ตำรวจทราบ และขอสำเนาประจำวันตำรวจเก็บไว้
3. แจ้งเหตุบริษัทประกันภัยทราบ แจ้งวัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ
4. เตรียมเอกสาร อาทิ ถ่ายสำเนากรมธรรม์ประกันภัยรถคันเกิดเหตุ ภาพถ่ายสำเนาบัตรประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดที่ออกโดยราชการ กรณีเมื่อเรียกร้องค่าเสียหาย
5. ให้ชื่อ ที่อยู่ ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์เพื่อช่วยเหลือในการเป็นพยานให้แก่คนเจ็บ
ข้อพึงปฏิบัติของสถานพยาบาลเมื่อรับผู้ประสบภัย
เมื่อสถานพยาบาลรับผู้ประสบภัยที่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ ควรปฏิบัติ ดังนี้
1. ให้การรักษาพยาบาลทันที
2. ทำประวัติคนไข้ และขอสำเนาบัตรประจำตัวคนเจ็บ
3. ขอสำเนาประจำวันตำรวจ
4. บันทึกชื่อบริษัทประกันภัย ของสำเนากรมธรรม์ประกันภัย
5. บันทึกชื่อ ที่อยู่ ผู้นำคนเจ็บส่งเข้ารักษาพยาบาล
อย่างไรจึงจะได้รับความคุ้มครองในกรณีสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพ
ผู้ประสบภัยจากรถที่ต้องสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร ที่จะได้รับจำนวนเงินความคุ้มครอง 80,000 บาท ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ต่อไปนี้
1. ตาบอด
2. หนูหนวก
3. เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด
4. สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์
5. เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด
6. จิตพิการอย่างติดตัว
7. ทุพพลภาพอย่างถาวร

การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น
เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัย ผู้ประสบภัย/ทายาทต้องยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น โดยยื่นคำร้องต่อบริษัทประกันภัย/บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด หรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยกรณีไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหาย จากบริษัทประกันภัยได้ พร้อมหลักฐาน ดังนี้
1. ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล / สถานพยาบาล
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้มีชื่อในบัตรเป็นผู้ประสบภัย
3. สำเนากรมธรรม์ประกันภัย หรือ เครื่องหมายที่แสดงว่ารถมีประกันภัย
4. สำเนาใบมรณบัตร กรณีเสียชีวิต
5. สำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ
6. สำเนาทะเบียน และสำเนาบัตรประจำตัวของทายาทกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต

บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นบริษัทประกันวินาศภัย จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย คือ
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับคำร้อง และจ่ายค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ. แทนบริษัทประกันภัย มุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสบภัย ที่ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทที่รับประกันภัยรถคันที่เกิดเหตุ
นอกจากนี้ บริษัทกลางฯ ยังรับประกันภัยตาม พ.ร.บ. เฉพาะรถจักรยานยนต์ โดยปัจจุบันมีสาขาให้บริการในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

เครื่องหมายที่แสดงว่ามีการทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.
เมื่อทำประกันภัยผู้เอาประกันภัยจะได้รับกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พร้อมเครื่องหมาย ที่แสดงว่ามีการประกันภัย
เครื่องหมาย ฯ ต้องติดไว้ที่กระจกหน้ารถด้านใน หรือติดไว้ในที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
การไม่ติดเครื่องหมายมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

เครื่องหมายชำรุด/สูญหาย
กรณีเครื่องหมายชำรุด/สูญหาย สามารถขอรับเครื่องหมายแทนได้ที่
1. สำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมการประกันภัย
2. สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต ทั้ง 4 เขต
3. สำนักงานประกันภัยทุกจังหวัด

โดยมีหลักฐาน ดังนี้
1. ใบแจ้งความกรณีเครื่องหมายหาย
2. เครื่องหมายเดิมชำรุด
3. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกัน พร้อมสำเนาภาพถ่ายที่รับรองถูกต้อง หรือหลักฐานอื่นที่ใช้แทนบัตรประชาชน หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง แล้วแต่กรณี หากผู้เอาประกันภัยเป็นนิติบุคคล ให้นำภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนของนิติบุคคล เพื่อแสดงชื่อบุคคลที่สามารถกระทำการแทนนิติบุคคล
4. ตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ตัวจริงพร้อมสำเนา 1 ชุด หากตารางกรมธรรม์ ฯ สูญหาย ให้ใช้สำเนาตารางกรมธรรม์ ฯ ที่รับรองถูกต้องโดยบริษัทประกันภัยและประทับตราบริษัทแทน
5. กรณีผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้ยื่นขอรับเครื่องหมายแทน ให้ทำหนังสือมอบอำนาจ (ติดอากรแสตมป์ 10 บาท) จากผู้เอาประกันภัย ถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจที่รับรองถูกต้อง
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยคืออะไร
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
มีหน้าที่ จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย หากผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย/เจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัย หรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ เช่น รถชนแล้วหนี เจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัยไม่จ่ายค่าเสียหาย ฯลฯ การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุน ฯ ผู้ประสบภัย / ทายาท ต้องยื่นภายใน 180 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ

การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุน
ผู้ประสบภัย/ทายาท สามารถยื่นคำร้องขอรับเสียหายเบื้องต้น จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ได้ที่
1. สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กรมการประกันภัย
2. สำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัด
3. สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต 4 เขต
การบอกเลิกกรมธรรม์
การบอกเลิกกรมธรรม์ มี 2 กรณี
1. บริษัทบอกเลิก
1. ต้องแจ้งการบอกเลิกเป็นหนังสือล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงผู้เอาประกันภัย
2. ต้องแจ้งการบอกเลิกนั้นไปยังนายทะเบียน ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่บริษัทส่งหนังสือบอกเลิก ไปยังผู้เอาประกันภัย
3. บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัย โดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ได้ใช้บังคับมา แล้วออกตามส่วน
4. บริษัทต้องส่งเครื่องหมายคืนนายทะเบียน/ทำลายเครื่องหมายนั้นให้ใช้การไม่ได้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนด 30 วัน ที่บริษัทได้บอกเลิก

2. ผู้เอาประกันภัยบอกเลิก
1.ต้องแจ้งให้บริษัททราบเป็นลายลักษณ์อักษร และมีสิทธิได้รับเบี้ยประกันภัยคืนตามอัตราเบี้ยประกันภัยที่ระบุ
2. ผู้เอาประกันภัย ต้องส่งเครื่องหมายคืนนายทะเบียน / ทำลายเครื่องหมายนั้นให้ใช้การไม่ได้
ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยบอกเลิก
3. กรณีผู้เอาประกันภัยบอกเลิก บริษัทต้องแจ้งการบอกเลิกให้นายทะเบียนทราบเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์สิ้นผลบังคับ

พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์
สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ได้มีการจำหน่าย พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์
ในราคาที่กฎหมายกำหนด

 

กลับหน้าหลัก

 

 

 

วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจยะลา
Yala Technological Business Administration College
133/25 หมู่ 4 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000