วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจยะลา

 
 *** วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจยะลา ***


                                


การประกันชีวิต เป็นวิธีการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดต้องประสบกับภัยเหล่านั้น ก็ได้รับเงินเฉลี่ยช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว โดยบริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปจ่ายให้แก่ผู้ได้รับภัย
การประกันชีวิต แยกออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
1. ประเภทสามัญ เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ในการพิจารณารับประกันชีวิตอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท และมีการชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี, ราย 6 เดือน, ราย 3 เดือน หรือรายเดือน
2. ประเภทอุตสาหกรรม เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำ โดยทั่วไปตั้งแต่ 10,000 - 30,000 บาท เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ การชำระเบี้ยประกันภัยจะชำระเป็นรายเดือน และไม่มีการตรวจสุขภาพ ฉะนั้นจึงมีระยะเวลารอคอย คือ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมชาติ บริษัทจะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมด
3. ประเภทกลุ่ม เป็นการประกันชีวิตที่กรมธรรม์หนึ่งจะมีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนมากจะเป็นกลุ่มของพนักงานบริษัท ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท การประกันชีวิตกลุ่มนี้อัตราเบี้ยประกันชีวิตจะต่ำกว่าประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม

แบบของการประกันชีวิต
การประกันชีวิตมีมากมายหลายแบบ แต่ละแบบจะมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป แบบการประกันชีวิตพื้นฐานมีอยู่ 4 แบบคือ

1. แบบตลอดชีพ เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเมื่อใดในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์ วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประกันภัยแบบนี้เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับจุนเจือบุคคลที่อยู่ในความอุปการะเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต หรือเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเจ็บป่วยครั้งสุดท้ายและค่าทำศพ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระของคนอื่น

2. แบบสะสมทรัพย์ เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ส่วนของการออมทรัพย์ คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด

3. แบบชั่วระยะเวลา เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัย วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง การเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่น ๆ และไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่จนครบกำหนดสัญญา

4. แบบเงินได้ประจำ เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกเดือน นับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไป แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ สำหรับระยะเวลาการจ่ายเงินได้ประจำนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันชีวิตที่จะเลือกซื้อ

ประโยชน์ของการทำประกันชีวิต
รูปแบบของกรมธรรม์ จะมีหลายรูปแบบและตั้งชื่อเป็นนามเฉพาะของแต่ละบริษัท ทุกรูปแบบพร้อมอัตราเบี้ยประกันภัยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนประกันชีวิต (อธิบดีกรมการประกันภัย) ก่อนจะนำเสนอขายแก่ประชาชน แต่โดยหลักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์รูปแบบใดหรือชื่ออะไรก็ตาม จะอยู่ภายใต้แบบของการประกันชีวิตรวม 4 แบบคือ

1. แบบชั่วระยะเวลา ให้ความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ โดยบริษัทจะจ่ายเงินตามจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ผู้รับประโยชน์ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้นั้น

2. แบบตลอดชีพ บริษัทจะจ่ายเงินตามจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้ผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ไม่ว่าจะเสียชีวิตเมื่อใดก็ตาม

** ทั้งแบบ 1 และแบบ 2 เป็นการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตแล้วเท่านั้น

3. แบบสะสมทรัพย์ บริษัทจะจ่ายเงินตามจำนวนที่เอาประกันภัยไว้ ให้แก่ผู้รับประโยชน์ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือจ่ายเงินเอาประกันชีวิตให้แก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีที่มีชีวิตอยู่รอดพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้

4. แบบเงินได้ประจำ บริษัทจะจ่ายเงินได้ประจำ หรือเงินบำนาญให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติเนื่องจากความชรา ไปจนถึงวันที่กำหนดไว้ (อาจเป็นชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือตลอดอายุก็ได้)

** แบบ 3 ส่วนท้าย และแบบ 4 เป็นการจ่ายเงินโดยมีเงื่อนไขว่าผู้เอาประกันภัยต้องมีชีวิตรอดอยู่จนพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้

ขั้นตอนดำเนินการ
1. ติดต่อบริษัทประกันชีวิตได้โดยตรงหรือผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย
2. เลือกแบบประกันชีวิตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ
3. วงเงินเอาประกันภัยที่ต้องการ โดยพิจารณาประกอบกับรายได้ประจำที่ได้รับ และกำลังความสามารถในการส่งเบี้ยประกันภัย
4. กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวท่านในแบบคำขอเอาประกันชีวิต โดยแถลงความจริงทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติการรักษาพยาบาลและคำแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะการปิดบังในสาระสำคัญเหล่านี้จะเป็นเหตุให้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์
5. ในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้กรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตแทนท่าน ให้ตรวจสอบความถูกต้องก่อนลงชื่อในแบบคำขอเมื่อได้รับกรมธรรม์ ควรตรวจสอบความถูกต้อง หากพบข้อมูลที่ผิด เช่น ชื่อผู้รับประโยชน์หรือชื่อผู้เอาประกันภัยผิดพลาด ฯลฯ ให้ทักท้วงบริษัทเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง
6. จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตตามกำหนดทุกครั้ง โดยติดต่อชำระที่บริษัท สาขา หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือผ่านธนาคารในกรณีชำระผ่านตัวแทนของบริษัท ให้เรียกใบเสร็จรับเงินตามแบบพิมพ์ของบริษัทเก็บไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
7. แจ้งให้ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุชื่อในกรมธรรม์ หรือบุคคลในครอบครัวทราบ ถึงการทำประกันชีวิต และสถานที่เก็บกรมธรรม์
8. ติดต่อกรมการประกันภัย สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต หรือสำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกครั้งที่มีปัญหา

 

ขั้นตอนและหลักฐานในการขอรับเงินผลประโยชน์ ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในการขอรับเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ หรือที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น ให้ดำเนินการดังนี้

1. ติดต่อบริษัทประกันภัยให้เร็วที่สุด
2. กรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต จะแยกเป็นกรณีตามสาเหตุของการเสียชีวิต ดังนี้
2.1 เสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ
** ต้องแจ้งให้ทราบภายใน 14 วัน และเตรียมหลักฐานประกอบด้วย
(1) กรมธรรม์ประกันชีวิต (ถ้าหายให้แจ้งความแล้วนำสำเนา รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายไปแสดงแทน)
(2) ใบเสร็จรับเงินงวดสุดท้าย
(3) ใบมรณบัตรของผู้เอาประกันภัย
(4) ทะเบียนบ้านของผู้รับประโยชน์
(5) บัตรประชาชนของผู้รับประโยชน์

2.2 เสียชีวิตโดยฆ่าตัวตาย
* เตรียมหลักฐานตาม 2.1(1) - (5) โดยเพิ่ม
(6) สำเนาบันทึกประจำวันรับแจ้งเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
(7) ใบชันสูตรพลิกศพ

2.3 เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ
* เตรียมหลักฐานตาม 2.1(1) - (5) โดยเพิ่ม
(6) สำเนาบันทึกประจำวันรับแจ้งเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
(7) สำเนาบันทึกประจำวันหลังกลับจากสถานที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
(8) ใบชันสูตรพลิกศพ

3. กรณีเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และสูญเสียอวัยวะ
* แจ้งบริษัททราบภายใน 10 วัน และเตรียมหลักฐานดังนี้
(1) กรอกแบบฟอร์มใบเรียกร้องค่าทดแทนของบริษัท
(2) ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลที่ระบุวันเริ่มต้น และวันสุดท้ายในการรักษาตัวในโรงพยาบาล
(3) อื่น ๆ เช่น ฟิล์มเอ็กซซเรย์

4. กรณีกรมธรรม์ครบกำหนด
ในกรณีเป็นการประกันชีวิต ประเภทสะสมทรัพย์ที่มีเงินคืนเมื่อกรมธรรม์ครบกำหนด ให้ดำเนินการและเตรียมหลักฐาน
(1) ติดต่อบริษัทประกันภัย
(2) กรมธรรม์ประกันชีวิต
(3) บัตรประชาชนของผู้เอาประกันภัย

การยกเว้นการจ่ายเงินเอาประกันชีวิต
ข้อจำกัดบางประการที่บริษัทประกันชีวิตยกเว้นการจ่ายเงินเอาประกัน จากสาเหตุการตายดังนี้
1. ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันตาย
2. ผู้เอาประกันฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี นับจากวันทำสัญญาหรือวันต่ออายุสัญญาครั้งสุดท้าย
ความตายที่เกิดจากสาเหตุข้างต้นดังกล่าว บริษัทประกันชีวิตจะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันชีวิตให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันชีวิตที่ได้ชำระมาแล้วทั้งหมดเท่านั้น

หน้าที่ของผู้เอาประกันต้องชำระเบี้ยประกัน
ถ้าหากตัวแทนของบริษัทประกันชีวิตยังไม่มาเก็บเงิน ตามกฎหมายจะถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันชีวิตจะต้องไปชำระที่สาขาของบริษัทด้วยตนเอง หรือส่งเป็นธนาณัติ เช็คและเพื่อที่บริษัทจะได้ส่งใบเสร็จรับเงินมาให้อย่างถูกต้อง ท่านจำเป็นต้องเขียนที่อยู่ของท่านให้ถูกต้อง เพื่อมิให้เสียโอกาสและประโยชน์

ระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกัน
ผู้เอาประกันชีวิตมีสิทธิที่จะได้รับการผ่อนผันการชำระเงินได้ โดยการยืดระยะเวลาได้ประมาณ 30 หรือ 60 วัน

 


   







 


 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

กลับหน้าหลัก

 

 

 

วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจยะลา
Yala Technological Business Administration College
133/25 หมู่ 4 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000